วันอาทิตย์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2551

บทบาทของผู้นำในองค์การ
บทบาทของผู้นำในองค์การ ตามความเห็นของนักวิชาการชาวสหรัฐอเมริกาชื่อ สตีเฟน เนเซวิช ( อ้างจากนิพนธ์ กินาวงศ์ . 2542 : 54 – 56 ) ได้รวบรวมบทบาทของผู้นำไว้ 17 ประการดังนี้
1. เป็นผู้กำหนดทิศทางในการปฏิบัติงาน ( Direction Setter ) บทบาทของผู้บริหารต้องมีความสามารถในการแนะนำ ชี้แจง ทำความเข้าใจในวัตถุประสงค์ของหน่วยงาน มีความสามารถในการเขียนแผนงานและโครงการ และการบริหาร ที่ยึดวัตถุประสงค์และผลงานเพื่อช่วยให้หน่วยบรรลุเป้าหมายที่วางไว้
2. เป็นผู้กระตุ้นความเป็นผู้นำ ( Leader – Catalyst ) บทบาทด้านนี้ต้องเป็นผู้บริหารที่มีความสามารถในการสร้างทีมงานที่มีแรงจูงใจกระตุ้นให้ผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติตาม โดยมีอิทธิพลต่อการปฏิบัติงานของบุคคลในหน่วยงาน
3. เป็นผู้จัดระบบ ( Systems Manager ) บทบาทของผู้บริหารต้องมีความสามารถในการนำทฤษฏีทางการบริหารไปใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมรู้จักวิเคราะห์ระบบงานและกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน
4. เป็นผู้บริหารการเรียนรู้ ( Intructional Manager ) บทบาทของผู้บริหารควรมีความเข้าใจในระบบการเรียนรู้ การพัฒนาการของมนุษย์มีความรู้ความเข้าใจเทคโนโลยีต่าง ๆ ในการบริหารงานและเข้าใจในทฤษฏีการสร้างและพัฒนาองค์การ
5. เป็นนักประชาสัมพันธ์ ( Public Relator ) บทบาทของการเป็นประชาสัมพันธ์ผู้บริหารต้องมีทักษะในการสร้างภาพพจน์ที่ดีรู้วิธีการที่จะเผยแพร่ข่าวสารด้วยสื่อและวิธีการต่าง ๆ
6. เป็นผู้บริหารบุคคล ( Personnel Manager ) บทบาท ของผู้บริหารจะต้องมีความสามารถในเทคนิคการเป็นผู้นำ การสรรหาคนเข้าทำงาน การพัฒนาบุคคลเสริมสร้างขวัญกำลังใจตลอดทั้งการประเมินผลการปฏิบัติงาน
7. เป็นผู้ประเมินผล ( Appraiser ) บทบาทของผู้บริหารจะต้องมีความสามารถในการประเมินความต้องการ การประเมินระบบ ด้วยวิธีการทางสถิติและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์
8. เป็นประธานในพิธีต่าง ๆ ( Ceremonial Head ) ผู้บริหารจะต้องมีบทบาทที่จำเป็นในการเป็นประธานพิธีต่าง ๆ ซึ่งจะต้องใช้ความสามารถ ในการแสดงบทบาทให้สอดคล้องกับสถานการณ์
9. เป็นผู้แก้ความขัดแย้ง ( Conflict Manager ) ผู้บริหารจะต้องมีบทบาทในการเป็นผู้แก้ความขัดแย้ง เข้าใจในสาเหตุของความขัดแย้ง เพราะความขัดแย้งย่อมมีเกิดขึ้นในการปฏิบัติงานซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ ผู้บริหารจึงต้องมีความสามารถในการขจัดความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้น
10. เป็นผู้ตัดสิน( Decision Maker ) ผู้บริหารจะต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทฤษฏีต่าง ๆในการตัดสินใจ ตลอดจนมีความสามารถในการวินิจฉัยสั่งการเพื่อป้องกันความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้น
11. เป็นผู้เปลี่ยน ( Change Manager ) ผู้บริหารจะต้องเป็นผู้นำในด้านการเปลี่ยนแปลงมาสู่องค์การเพื่อพัฒนาองค์การให้มีประสิทธิภาพ ผู้นำต้องรู้ว่าควรจะเปลี่ยนอะไร เปลี่ยนอย่างไรแบบทางใด เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและสถานการณ์
12. เป็นผู้บริหารแบบนักวางแผน ( Planner ) ผู้บริหารจะต้องมีความสามารถในคาดคะเนเหตุการณ์ในอนาคตเตรียมวางแผนในการวางตัวบุคคลให้พร้อมกับสถานการณ์ใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น
13. เป็นผู้แก้ปัญหา ( Problems Manager ) ผู้บริหารต้องมีบทบาทในการแก้ปัญหามีความสามารถในการวินิจฉัยปัญหาเพราะปัญหาที่เกิดขึ้นในองค์การไม่จำเป็นต้องมีความขัดแย้งเสมอไป เพราะอาจมีปัญหาด้านอื่น ๆ ที่ผู้นำต้องสามารถแก้ปัญหาได้
14. เป็นผู้สื่อสาร ( Communicator ) บทบาทของผู้บริหารจะต้องเป็นผู้มีความสามารถในการสื่อสารทั้งภาษาเขียนและภาษาพูด วิธีการใช้สื่อต่าง ๆ ในการสื่อสารตลอดทั้งมีความสามารถในการประชาสัมพันธ์หน่วยงานของตน
15. เป็นผู้จัดองค์การ ( Organizer ) บทบาทของผู้บริหารจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในการออกแบบงาน รู้วิธีการกำหนดโครงสร้างขององค์การขึ้นใหม่และมีความเข้าใจในพฤติกรรมขององค์การ
16. เป็นผู้บริหารทรัพยากร ( Resource Manager ) บทบาทของผู้บริหารจะต้องมีความสามารถในการบริหาร 4” M คือ คน งาน วัสดุ และกระบวนการทำงานในองค์การ ตลอดทั้งการทำการศึกษา และการแสวงหาทรัพยากรจากภายนอกมาสนับสนุนการปฏิบัติงาน
17. เป็นผู้ประสานงาน ( Coordinator ) บทบาทของผู้บริหารจะต้องมีความสามารถในการประสานกิจกรรมขององค์การ ความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิสัมพันธ์ของบุคคล เข้าใจเครือข่ายของการสื่อสาร รู้วิธีการนิเทศงานและวิธีการรายงานผลการปฏิบัติงาน เพื่อให้งานขององค์การมีประสิทธิภาพ

ไม่มีความคิดเห็น: